ยาฝังคุมกำเนิด หรือ การฝังยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยการฝังหลอดบรรจุฮอร์โมนเล็กๆ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ออกฤทธิ์นานโดยออกฤทธิ์ได้นาน 3-5 ปี ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์การตั้งครรภ์ได้ตามกำหนดเวลาที่ฝังยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยยาฝังคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก โดยมีโอกาสล้มเหลวที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.05-0.1% 


เวลาที่เหมาะสมในการฝังยาคุมกำเนิด
  • ควรทำภายใน 5 วันแรกหลังมีประจำเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ หรือภายหลังการแท้งบุตรไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังการคลอดบุตรไม่เกิน 4-6 สัปดาห์


ผู้ที่ไม่ควรฝังยาคุมกำเนิด
  • ตั้งครรภ์ (ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน)
  • เป็นโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะมีประวัติว่าเคยเป็นหรือกำลังเป็น และผู้ที่มีเนื้องอกชนิดที่ไวต่อโพรเจสเตอโรนหรือฮอร์โมนที่มีฤทธิ์คล้ายโพรเจสเตอโรน
  • เป็นโรคตับรุนแรงที่ยังตรวจพบความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการ
  • เป็นโรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีการอักเสบของหลอดเลือดดำร่วมกับมีลิ่มเลือด (thrombophlebitis) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (thromboembolic disorders)


ผลข้างเคียงที่อาจพบหากคุมกำเนิดด้วยวิธียาฝังคุมกำเนิด
  • มีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยเฉพาะช่วงแรก แต่ต่อมาประจำเดือนจะค่อยๆ น้อยลงและจะหายไปโดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ฝังยา
  • บางรายอาจมีประจำเดือนมาบ่อยและมานานขึ้น (พบได้น้อยมาก)
  • ปวดท้องน้อยและปวดประจำเดือนบ้างในช่วง 2-3 เดือนแรก
  • ในระยะแรกอาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
  • บริเวณที่ฝังแท่งยาอาจเกิดการอักเสบ หรือมีรอยแผลเป็นได้
  • อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
  • มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม
  • เวียนศีรษะ
  • บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม
  • เกิดฝ้า สิว
  • ช่องคลอดอักเสบและแห้ง
  • อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ


ข้อควรปฏิบัติหลังฝังยาคุมกำเนิด
  • ในช่วง 5 - 7 วันแรก อย่าเพิ่งนำพลาสเตอร์ออก หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ งดใช้แขนข้างที่ฝังยาคุมกำเนิดยกของหนักและออกกำลังกายหนัก และระมัดระวังไม่ให้ได้รับแรงกระแทก
  • ในช่วง 7 วันแรก หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ให้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยก่อน
  • รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่คุณหมอจ่ายให้ เพื่อป้องกันการเกิดแผลติดเชื้อ
  • เมื่อครบ 7 วันแล้ว ให้กลับไปให้คุณหมอตรวจติดตามอาการ หากไม่มีอะไรผิดปกติ ให้กลับมาตรวจติดตามผลการรักษาปีละครั้ง
  • เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด ให้กลับมาถอดยาคุมกำเนิดที่ฝังไว้ และเปลี่ยนเป็นแท่งใหม่
  • หากเกิดอาการผิดปกติหลังจากใช้ยาฝังคุมกำเนิด เช่น แผลมีเลือด มีน้ำเหลือง มีหนอง หรือบวมแดง หรือมีอาการตั้งครรภ์ หรือคลำบริเวณที่ฝังยาแล้วไม่พบหลอดยา ให้รีบพบแพทย์ทันที


ควรเอายาคุมที่ฝังออกเมื่อใด?
  • การเอายาคุมที่ฝังออกนั้นสามารถทำได้ตามความต้องการ โดยเมื่อครบกำหนด 3 หรือ 5 ปี ตามที่แพทย์นัด ต้องให้แพทย์ถอดยาคุมออก และใส่หลอดใหม่เข้าไป แต่ในกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น มีอาการของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง หรือเกิดภาวะซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้นำยาฝังคุมกำเนิดออกก่อนกำหนด และใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน


นัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ : แผนกสูตินรีเวช โทร. 0-2867-0606 ต่อ 1116,1109 / OPD Prestige ชั้น11  ต่อ 1106
แพ็คเกจใกล้เคียง